วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เมืองพังงา


ประวัติศาสตร์เมืองพังงา


        จากพงศาวดารปรากฏว่า ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็น ฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา โดยจาก ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และสืบค้นได้แน่ชัด ปรากฎว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2352 ซึ่งในปีนั้นเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง และได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่าย ของตน และเผาเมืองถลางเสีย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาช่วย และได้มาทันขับไล่ทหารพม่าหลบหนี

       ระหว่างศึกได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ “กราภูงา” (ภาษามลายู แปลว่า ป่าน้ำภูงา) ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้งเสร็จศึกแล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลาง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลางข้ามฝากมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ “กราภูงา” และจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ “ถลาง” ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพจากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน

          ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้ม แข็ง จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร(แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี พ.ศ.2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับ จังหวัดพังงา ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นที่ทำการของรัฐบาล อยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ.2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลด้านโบราณคดี


       ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีพบเครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา และภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตามถ้ำ  ในอ่าวพังงา อำเภอเมือง และอำเภอทับปุด ยังได้พบเทวรูปแกะสลักหินพระวิษณุหรือพระนารายณ์ และชิ้นส่วนเทวรูปบนเขาเวียง(เขาพระนารายณ์)อำเภอกะปงและอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งจากหนังสือ มิลินทปัญหา (คัมภีร์ในพุทธศาสนา ราว พ.ศ.500) และ จดหมายเหตุของปโตเลมี (กรีก ราว พ.ศ.800) เชื่อได้ว่า มีนักเดินเรือ พ่อค้า นักบวช พราหมณ์ และช่างฝีมือจากอินเดียเดินทางเข้ามาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา และเรียกชื่อเมืองในถิ่นนี้ว่า “ตะโกลา”บริเวณดังกล่าวนี้จึงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณเมื่อหลายพันปี ก่อนสืบต่อกันมา 

        จากหลักฐานศิลาจารึกเมืองดันชอร์ ประเทศอินเดีย จดหมายเหตุของชาวอาหรับ ตำนานนครศรีธรรมราช และการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตก ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-14 ชุมชนโบราณตะกั่วป่าได้พัฒนาเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามัน เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ได้ผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียเข้ากับ วัฒนธรรมพื้นเมือง มีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพตามแบบอย่างศาสนาฮินดู ส่วนพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทบางช่วงและมีบางกลุ่มยอมรับนับถือ พงศาวดารกล่าวว่า ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตี ได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) มาเป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี 2383 ต่อมาเมืองตะกั่วทุ่งถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมาเมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า เมืองถลาง และเมืองระนอง เริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาด้วยการค้าแร่ดีบุก ในปี 2437 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑล เมืองพังงาและตะกั่วป่าขึ้นอยู่กับมณฑลภูเก็ต ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าไปขึ้นกับจังหวัด พังงาตั้งแต่ พ.ศ.2474 เป็นต้นมา จากนั้นพังงาก็ดำรงความเป็นเมืองท่าและเมืองแห่งเหมืองแร่ดีบุกควบคู่ไปกับ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดระนองเรื่อยมา จนกระทั่งประมาณปี 2524 ราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำลง ภูเก็ตเริ่มเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยว และขยายตัวไปยังจังหวัดกระบี่และพังงาตราบจนปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น